http://www.kumanthongsiam.com
    สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  ประวัติ  เรื่องเล่า  กุมารทอง  อื่นๆ  รวมรูปภาพ  เว็บบอร์ด
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 24/05/2008
ปรับปรุง 10/07/2021
สถิติผู้เข้าชม23,946,894
Page Views33,383,824
Menu
หน้าแรก
รวมรูปภาพ
เว็บบอร์ด
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

 


เรื่องเล่าจากโกสินทร์ ตอนที่ 60 มีรูปวัว,ควายธนูประกอบ

(อ่าน 3931/ ตอบ 12)

โกสินทร์



เรื่องเล่าจากโกสินทร์ ตอนที่ 60 มีรูปวัว,ควายธนูประกอบ


ประสบการณ์ของคุณป้าตอน 5


            เมื่อ 1 เมษายน นี้ หลานของผมเค้าย้ายที่อยู่จากเดิมสมุทรปราการมาอยู่แถวรัชดาปรากฎว่าหอพักแถวนั้นคิดค่าส่วนกลาง 600 บาท ทำยังกะอยู่คอนโด เดี๋ยวนี้เจ้าของหอพักเอาเปรียบผู้เช่าถึงขนาดนี้เชียวหรือ เท่านั้นยังไม่พอ ผมไปธุระซอยมหาดไทยแถวรามคำแหง เห็นป้ายไวนิลปิดประกาศหน้าหอพักว่าไม่มีค่าส่วนกลางแรกเข้า เอ๊ะแสดงว่าเดี๋ยวนี้หอพักหลายแห่งในกรุงเทพฯคงจะมีค่าส่วนกลางเหมือนคอนโดซิ อย่างค่าแม่บ้านทำความสะอาดหอพัก ค่ารปภ.รักษาความปลอดภัยของหอพัก ค่าไฟทางขึ้นบันได ค่าอะไรที่มันเป็นส่วนกลางของหอพักเล่นผลักภาระมาให้ผู้เช่าหมด ทั้งที่หอพักมันไม่ได้ขายขาดแบบคอนโดซะหน่อย อันที่จริงค่าใช้จ่ายส่วนกลางนี้จะต้องเป็นภาระของเจ้าของหอพัก หากเป็นคอนโดขายขาดให้ผู้ซื้อแล้ว ให้ผู้ซื้อคอนโดจ่ายก็สมเหตุสมผล  ผมขอใบเสร็จจากหลานจะเอาไปฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เค้าก็นกรู้เล่นเขียนในใบเสร็จค่าส่วนกลางว่าเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ระบุไว้ นี่จะเอาเปรียบกันไปถึงไหน…… อย่างคอนโดที่ผมอยู่วันดีคืนดีก็มีเสียงสัญญาณเตือนภัยไฟไหม้ดังสนั่นหวั่นไหว ครั้งหลังสุดดังช่วงห้าทุ่ม บางคนวิ่งลงมาข้างล่างทั้งชุดนอน มันก็อีหรอบเดิม ผมไปถึงรปภ.เค้าบอกว่าเสียงที่ดังเนื่องมาจากมีบางห้องเล่นทำสุกี้กินกัน ควันมันลอยอบอวลในห้อง ไปกวนสัญญาณเตือนไฟไหม้ สัญญาณเตือนไฟไหม้ก็ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรง ดังสนั่นหวั่นไหว คอนโดผมมีเหตุการณ์อย่างนี้บ่อยมาก จนบางห้องเค้าเห็นเป็นธรรมดาไม่ออกมาดูแล้ว ผมว่ามันอันตรายนะ สักวันหนึ่งมันเกิดเหตุไฟไหม้จริง ๆ กว่าจะรู้ไฟก็ไหม้ถึงห้องแล้ว หนีไม่ทันเสียแล้ว อันตรายมาก….. เอาล่ะมาฟังเรื่องราวคุณป้าผมต่อนะครับ ตอนนี้ก็เป็นตอนจบแล้ว……




อัฐิธาตุท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล


                 ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล เป็นเสมือนน้องเล็กของท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม และท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฎโฐ  ซึ่งต่างเป็นศิษย์รุ่นเล็กของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตมหาเถระด้วยกัน


ท่านสนิทสนมคุ้นเคยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะคณะกฐินของเราจะนิมนต์ท่านทั้งสามองค์ นั่งรถไปกับขบวนกฐินแยกเป็นประธานอยู่แต่ละคัน สามคันก็สามองค์ ท่านอาจารย์จวนเคยปรารภกับเราว่า อาตมาคงจะตายใกล้ ๆ กับท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์สิงห์ทอง ก็บอกข้าพเจ้าว่า อาตมาจะตายพร้อมกับหลวงตาโน่น ---! ท่านว่าแล้วบุ้ยใบ้ชี้ไปทางท่านอาจารย์จวนพลางหัวเราะ เป็นที่ทราบกันในหมู่ศิษย์ว่า ท่านสนิทสนมใกล้ชิดล้อเลียนกับท่านอาจารย์จวนมากที่สุด เมื่อได้ยินท่านพูดกันเช่นนั้น ก็คิดว่าท่านพูดเล่น แล้วท่านก็มรณภาพไปพร้อมกันจริง ๆ ทั้งสามองค์เมื่อ 27 เมษายน 2523


สำหรับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้มีการพระราชทานเพลิงศพก่อนเพื่อนแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2523 ข้าพเจ้าได้รับอัฐิแจกจากวัด ก็นำเก็บไว้บูชา ปรากฎอัฐิมีลักษณะขาวขึ้น บางส่วนแปรสภาพตกผลึกเป็นหินปูน บางชิ้นงอกออกจากเดิมมาก ตามที่ปรากฏในภาพ


พระธาตุมาปรากฏที่รูปล็อกเกตพระคุณเจ้าพระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังษี)


                 วันหนึ่งพระคุณเจ้าพระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี) ฝากรูปล็อกเกตมาให้ บอกว่า ให้เป็นรางวัล ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินว่า หลวงปู่เทสก์จัดทำเหรียญหรือรูปล็อกเกต เมื่อได้รับจึงดีใจมาก ขณะนั้นข้าพเจ้ายังนั่งอยู่ที่ที่ทำงาน เป็นเวลาเย็น เลิกงานแล้ว ท่านผู้นำล็อกเกตมาให้กลับไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงมีเวลาชื่นชมรูปท่านอาจารย์ได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวจะเสียเวลางาน --- ดูละเอียดกระทั่งกล่องที่ใส่ล็อกเกตมา เพราะมีเลขลำดับกำกับบนกล่องเลขเดียวกับล็อกเกตด้วย ดูอยู่พักใหญ่ก็ปิดกล่องนั่งทำงานต่อไป


                 ครู่หนึ่งต่อมา ลูกกวาดลูกสาวข้าพเจ้า เปิดประตูห้องทำงานเข้ามาด้วยรถไปรับกลับมาจากโรงเรียนแล้ว จะรอมากลับบ้านพร้อมแม่ ข้าพเจ้าจึงอวดลูกว่า ท่านอาจารย์เมตตาฝากล็อกเกตมาให้


                 ดูไหมลูก --- ข้าพเจ้าชวน แล้วก็เปิดกล่องล็อกเกตออกให้ลูกดู


                 ปรากฏว่ามีพระธาตุมาอยู่ในกล่อง ข้างรูปล็อกเกตอย่างน่าอัศจรรย์


                 ได้นำความไปเล่าถวาย ท่านพระอาจารย์เทสก์ และกราบเรียนถามท่านว่า ใครเป็นผู้ส่งพระธาตุมา --- ท่านอาจารย์ใช่ไหมเจ้าคะ? หรือพระธาตุท่านอาจารย์เจ้าคะ?


                 คงจะเป็นเพราะคำถามกำกวมคำถามหลังนี้เอง ท่านพระอาจารย์เทสก์จึงบ่นว่า คนพิสดาร!!


ภาค 5 พระธาตุท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


                 ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วันที่ 18 เมษายน 2524 ณ เมรุชั่วคราวหน้าวัดเจติยาคิรีวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระรคาชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ระหว่างพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ญาติสนิทและศิษย์เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า อัฐิของท่านพระอาจารย์จวนไว้ ไม่ควรจะแบ่งแยกกันออกไป ควรจะเก็บรวมกันไว้ ณ ที่วัดที่เดียวกัน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนได้มาเคารพสักการะได้ทั่วกัน และทรงมีพระราชดำรัสถามว่า ท่านพระอาจารย์ ได้เคยสั่งเกี่ยวกับอัฐิของท่านไว้ประการใดบ้าง ทั้งศิษย์และญาติสนิทของท่านต่างกราบบังคมทูลมีข้อความตรงกันว่า ท่านเคยสั่งว่า เขาภูทอกนี้เป็นเสมือนเจดีย์ใหญ่อยู่แล้ว อาตมาตายก็ไม่ต้องทำอะไร ให้เจาะเขาข้างบนนำกระดูกไปฝังไว้ก็พอแล้ว หรือถ้าเกรงว่าจะเป็นภาระ จะโยนทิ้งเหวไปก็ได้


เมื่อทรงฟังคำกราบบังคมทูลประโยคสุดท้าย ก็ทรงพระสรวลและทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริว่า ถ้าเช่นนั้น ก็ควรจะสร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้บนยอดเขา….และจะมาช่วยสร้างด้วย” พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชดำรินี้ให้ทราบทั่วกัน


ความที่ทรงมีพระราชปรารภว่า อัฐิท่านพระอาจารย์จวนนั้น ไม่ครวรจะแบ่งแยกกันออกไป ควรจะเก็บรวมกันไว้ ณ ที่วัดที่เดียวกัน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประชาชน ได้มาเคารพสักการะได้ทั่วกันนี้ ทางญาติและศิษย์ก็น้อมรับพระราชกระแสใส่เกล้า มอบให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจัดการเรื่องอัฐิของท่านโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะข้าพเจ้านั้นระวังตัวมาก เวลาพระราชทานสามหาบและเก็บอัฐิวันรุ่งขึ้นจากวันถวายเพลิง ได้สรงน้ำอัฐิของท่านแล้ว ก็ถอยออกมายืนภายนอกด้วยเกรงจะมีข้อครหาภายหลังว่า เป็นศิษย์ใกล้ชิดไปแอบเก็บอัฐิของท่านมา และยังไม่ทันเสร็จพิธีสามหาบ ข้าพเจ้าก็หนีออกจากบริเวณกลับมาวัดแล้ว และมาเรียนท่านอาจารย์แยง สุขกาโม ว่าสังเกตดูการเก็บอัฐิใส่โกศนั้น ยังมีตกหล่นอยู่มาก ถ้าทางวัดจะจัดเจ้าหน้าที่ไปเกบ็็็สสสสHHHบกวาดผงถ่านทั้งหมดนำมารักษาไว้บนยอดเขาก็จะเป็นการดี


ปรากฎว่าทางวัดเก็บผงถ่านบรรจุใส่กระสอบให้พระเณรนำขึ้นไปไว้บนยอดเขาได้ถึงห้ากระสอบ แล้วพวกเราที่ไปช่วยในงานพระราชทานเพลิงศพก็กลับมากรุงเทพฯ โดยไม่ได้แตะสิ่งใดแม้แต่จะเป็นผงเถ้าถ่าน ซึ่งทราบภายหลังว่า หลังจากสำนักพระราชวังและวัดเก็บอัฐิอังคารและผงถ่านแล้ว พวกประชาชนชาวบ้านได้ตรูกันเก็บเศษผงถ่านธุลีกันหมดในเวลาไม่นานนัก


พอถึงต้นเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มได้ยินข่าวเรื่องพระธาตุท่านพระอาจารย์จวน โดยมีคนโทรศัพท์มาเล่าว่า ในวันเก็บอัฐิตอนเช้านั้น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเทน้ำล้างมือ (ที่จับต้องอัฐิของท่าน) ทิ้ง พวกศิษย์ชุดหนึ่งซึ่งไปกับคณะผ้าป่ากรุงเทพฯ ก็รีบไปขอน้ำล้างมือนั้นมาบูชา บางคนก็ใส่ถุงพลาสติก บางคนไม่มีถุงพลาสติกก็เอาชายเสื้อไปจุ่มน้ำไว้ กลับกรุงเทพ นำชายเสื้อนั้นมาซักน้ำ และนำน้ำ (ซึ่งซักชายเสื้อ) มาบูชา ปรากฎขึ้น บางรายนำน้ำใส่ขวดโหล เก็บพระธาตุขึ้นได้นับเป็นร้อย ๆ องค์


              เขาถามว่า ข้าพเจ้ามีบ้างไหม อัฐิท่านอาจารย์จวน ข้าพเจ้าว่า อย่าว่าแต่อัฐิเลย แม้แต่ น้ำล้างมือ” อย่างว่านั้น ข้าพเจ้าก็ไม่มี บางคนกรุณาพาข้าพเจ้าไปดูขวดโหลน้ำล้างมือนั้น และให้ข้าพเจ้าได้เห็น พระธาตุ” ที่เกิดขึ้นด้วย ข้าพเจ้าก็ได้แต่อนุโมทนาในความโชคดีของท่านเหล่านั้น


              ตอนหลังคงจะมีคนสงสารว่า ศิษย์ทางการไฟฟ้าฯไม่มีวาสนาทางนี้เลย  จึงเมตตาส่งซองพลาสติกเล็ก ๆ มาให้พวกเราคนละ 1 ซอง บอกว่าเป็นผงถ่านที่ประชาชนกวาดมาจากเมรุหลังจากที่สำนักพระราชวังเก็บอัฐิใส่โกศ  และหลังจากทางวัดเก็บอังคารและผงเถ้าถ่านบรรจุใส่กระสอบนำขึ้นไปบนยอดเขาแล้ว


              ข้าพเจ้าเปิดขึ้นดู เห็นเป็นผงถ่านสีดำละเอียดก็เก็บไว้ วันหนึ่งมีคนถามถึงว่า คุณสุรีพันธุ์ได้อัฐิท่านอาจารย์จวนเยอะใช่ไหม ข้าพเจ้าจึงหยิบซองผงถ่านขึ้นชูให้ดู และว่า นี่แหละที่เรามีกัน….คนละ 1 ซองเล็กนี้ ปากซึ่งไวเท่าใจคิดก็บ่นว่า ท่านอาจารย์ไม่เห็นเมตตาเราเลย ใคร ๆ ก็ได้พระธาตุปาฎิหาริย์ พวกเราไม่เห็นได้บ้างเลย


             จำได้ว่าเป็นเวลาต้นเดือนมิถุนายน 2524 บ่นไปแล้วก็เหลือบตาดูซองผงถ่าน เห็นอะไรเป็นจุดสีขาว ๆ ก็ร้องเอ๊ะ …. แล้วเทออกใส่จาน เห็นเป็นจุดขาวเล็ก ๆ เหมือนไข่ปลา จึงเลือกขึ้นมาแยกไว้ พวกเราทุกคนต่างพิจารณาผงถ่านซองของตัว ได้จุดขาวเล็ก ๆ นั้นมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ใครจะขยันเลือกหาสักเพียงไหน เพราะความจริงยิ่งหา (จากผงถ่านกองกระจิหริดนั้น) ก็ยิ่งพบ


               จุดขาวเล็ก ๆ ลักษณะเหมือนไข่ปลานั้น ต่อมาก็โตขึ้นลักษณะเปลี่ยนเป็น 2 แบบ คือ แบบหนึ่งอันเป็นส่วนใหญ่ จะโตขึ้น ขาวขึ้น กระทั่งประมาณ  2 ปีต่อมาจึงกลายเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์สีขาว…. อีกแบบหนึ่งอันเป็นส่วนน้อย จะโตขึ้นสีเทาเข้มขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นพระธาตุสีดำ น่าประหลาดว่าพระธาตุเหล่านี้ ตั้งต้นจากผงถ่านซองเล็กนิดเดียว….!


              หลังจากพระราชทานเพลิงศพ วันที่  18 เมษษยน 2524 แล้ว ข้าพเจ้ามีธุระไปที่ภูทอกอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้เคยย่างกรายไปที่เมรุซึ่งอยู่หน้าวัดเลย ครั้งนั้นจะต้องไปสำรวจเส้นทางที่จะพาคณะกฐินผ้าป่ามาทอดผ้าป่าที่ภูทอกตอนปลายเดือนตุลาคม เพราะระหว่างฤดูฝนทางคมนาคมอาจจะขลุกขลักได้ ทุกปีก่อนกำหนดสัก 1 สัปดาห์ข้าพเจ้าก็จะต้องไปดูเส้นทางก่อนเสมอ ปีนั้นก็เช่นเดียวกัน จำได้ว่าเป็นวันที่ 17 ตุลาคม 2524


                 ถึงวัดแล้วคุณแม่ชีโสดาได้ชวนให้ไปกราบที่เมรุ ข้าพเจ้าถูกคะยั้นคะยอมากก็เลยตามใจท่าน ก้มลงกราบที่เมรุ แล้วใจก็นึกแว่บขึ้นมาเฉย ๆ ว่า ท่านอาจารย์ขอพระธาตุบ้างซีเจ้าคะ (เวลานั้นพระธาตุจากผงถ่านที่กล่าวข้างต้นยังไม่แปรสภาพเป็นพระธาตุอย่างเต็มที่)


                  พอเงยหน้าขึ้น ก็มองเห็นพระธาตุ 2 องค์ ปรากฎอยู่เบื้องหน้า องค์ยังเต้นอยู่ไม่นิ่งสนิท เหลียวไปมองโดยรอบ บนเมรุมีเรานั่งอยู่คนเดียว ส่วนคุณแม่ชีโสดาไปกวาดลานเมรุอยู่ข้างล่าง ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นนำพระธาตุไปให้คุณแม่โส…. (ชื่อที่เราเรียนท่านสั้น ๆ เช่นนั้น) ดู และเล่าเรื่องให้ท่านฟัง มองไปดูลานเมรุช่วงชั้นต่อไป ก็มองเห็นอะไรขาว ๆ อยู่ในถาด คล้าย ๆ ข้าวตอกขาวโปรยอยู่ สาวเท้าไปดู ก็เห็นผงถ่านดำเต็มถาดนั้น ส่วนที่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นข้าวตอกข้าวนั้นคือ พระธาตุขาวฟ่องไปหมด ข้าพเจ้าร้องลั่นด้วยความดีใจ เรียกคุณแม่โสมาดู พลางก้มรีบเก็บพระธาตุ


                 คุณแม่โสบอกว่าแปลกมาก บริเวณเมรุนี้ตั้งแต่วันถวายเพลิงเดือนเมษายนแล้ว พอถึงวันวิสาขะ….ครั้งหนึ่ง และวันเข้าพรรษา…..อีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านต่างมาเวียนเทียนกัน วางดอกไม้ธูปเทียน เก็บกวาดกันเสมอ และตัวท่านเองก็ไปกวาดลานเมรุทุกวันไม่เคยปรากฎพระธาตุหรือผงถ่านเหลืออยู่เลย


                  ข้าพเจ้าไม่สนใจ นั่งเก็บพระธาตุลูกเดียว แต่ประเดี๋ยวเดียวก็ตกใจ ด้วยข้าง ๆ เรามีชาวบ้าน พระ เณร มาช่วยกันเก็บพระธาตุแน่นไปหมด ได้ความว่าคุณแม่โสวิ่งกลับไปที่วัด บอกว่าพระธาตุข่องท่านอาจารย์จวนเสด็จ คุณแม่สุรีพันธุ์ไปอธิษฐานขอ เผอิญมีพระเณรและชาวบ้านจากตำบลอื่นกำลังมาถึงภูทอกพอดี ได้ยินคุณแม่โสประกาศเช่นนั้นก็ดีใจ เร่งชวนกัน บ้างวิ่ง บ้างเดิน เฮโลไปที่เมรุ จึงได้มีคนแน่นเช่นนั้น


                   ข้าพเจ้าคนเดียวเก็บไม่ทันเพื่อนเขา และไม่ได้เตรียมตัวอะไรไปเลย เก็บได้ก็ใส่อุ้งมือแค่นั้น จึงวิ่งกลับมาที่วัด มาหาถุงพลาสติกใหญ่ได้ถุงหนึ่ง แล้วกลับไปแย่งเก็บกับเขาอีกพักหนึ่ง ถ้าจะเลือกแต่พระธาตุก็คงช้าไม่ทันเขา เลยโกยทั้งถ่านทั้งพระธาตุใส่ถุงกลับมา


                   พระธาตุชุดนี้ แม้เวลามองเทียบกับผงถ่านจะดูขาว แต่เมื่อแยกขึ้นแล้วคงยังมีสีเทาแกมอยู่มาก และส่วนใหญ่ยังมีฟองกระดูกติด มาปรากฎเป็นพระธาตุลักษณะสมบูรณ์ สีขาว เป็นมันเลื่อมภายหลัง ส่วนผงถ่าน ซึ่งข้าพเจ้าเรียกผงถ่านปาฎิหาริย์นั้น ควรถือเป็นปาฎิหาริย์พิเศษสุดยอดเลย เพราะมีสิ่งต่าง ๆ ปรากฎขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ในเวลาภายหลังเรื่อยมา….


                   แรก ๆ จะเป็นพระธาตุขาวบ้าง เทาบ้าง องค์เล็ก ๆ ทั้งนั้น ซึ่งต้องช้อนขึ้นมาเก็บแยกไว้ ต่อมาพระธาตุเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพโตขึ้น ขาวขึ้นสำหรับพระธาตุที่จะกลายเป็นสีขาว เทาขึ้น ดำขึ้น สำหรับพระธาตุที่จะเป็นสีดำ บางทีจะเห็นอัฐิชิ้นเล็ก ๆ เล็กจนขนาดว่าเป็นจุดไข่ปลา ข้าพเจ้าก็จะเลือกขึ้นเก็บไว้ แล้วอัฐิเหล่านี้ก็จะแปรสภาพกลายเป็นพระธาตุ บางทีมีคนมาขอฟังเรื่อง ยกโถใส่ผงถ่านออกมาตั้ง ตักแจกกันไปคนละ 1 ช้อน บางคนอยากเห็นพระธาตุ ก็ปรากฎพระธาตุขาวขึ้นเดี๋ยวนั้น ให้เป็นที่ชื่นอกชื่นใจกันเต็มที่ บางทีก็จะพบพระธาตุแก้วผลึก


                  ระยะหลังชะรอยว่าท่านคงจะเห็นใจเราที่ใช้ความพยายามเก็บจุดขาว ๆ ซึ่งแม้ตอนหลังจะใหญ่กว่าไข่ปลา แต่ก็ยังเล็กอยู่ดีทีละองค์สององค์ แม้บางครั้งจุดขาว ๆ เหล่านั้นจะเพิ่มจำนวนให้เราเห็น ก็เสียเวลาอยู่นั่นเอง ดังนั้น ระยะหลังบางครั้งจึงมีอัฐิชิ้นใหญ่ ๆ เกิดขึ้น ให้ทั้งตื่นเต้น และทั้งตื้นตันในความเมตตาของท่าน อิฐิก็ดี จุดขาว ๆ ก็ดีเหล่านี้ จะให้เราชื่นชมและเปลี่ยนแปรสภาพไปช้า ๆ ให้เราได้ศึกษาการแปรสภาพจากอัฐิ เหมือนดังเป็นธรรมดาสามัญทุกประการ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าระยะใด เวลาใดจะเกิดปาฎิหาริย์พิเศษ ซ้อนปาฎิหาริย์เดิม (ที่ของเหล่านั้นเกิดขึ้นเอง เป็นปาฎิหาริย์อยู่แล้ว) ขึ้นมาเมื่อไหร่อีก


                    บางเวลาข้าพเจ้าถึงกับร้องออกมาดัง ๆ ว่า ท่านอาจารย์เจ้าคะ….. ตามเรื่องไม่ทันแล้ว” เพราะเหมือนเล่นกล เพียงแต่ว่าเราไม่ทราบเท่านั้นว่า เล่นอย่างไรและเมื่อไรจะเล่น…! พระธาตุท่านพระอาจารย์จวนที่ปรากฎในภาพในหนังสือเล่มนี้ นอกจากที่เขียนไว้ว่าถ่ายภาพที่วัดเจติยาคิรีวิหารแล้ว เป็นพระธาตุที่เกิดจากปาฎิหาริย์ทั้งสิ้น ปาฎิหาริย์มาเป็นองค์ ปาฎิหาริย์มาเป็นจุดขาวไข่ปลาก่อน ปาฎิหาริย์มาเป็นอัฐิก่อน….  (ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจว่า ถ้าจัดสร้างเจดีย์ของท่านเสร็จเมื่อไรก็จะเชิญพระธาตุปาฎิหาริย์ท่านพระอาจารย์จวน ถวายเข้าในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป)


                   ในเวลาอันสั้นเพียงสองสามวันที่จะเขียนต้นฉบับ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ”นี้ ข้าพเจ้าคงไม่อาจจะรื้อฟื้นความจำบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ได้หมด จึงจะขอนำมากล่าวเฉพาะที่เห็นว่าอัศจรรย์เป็นพิเศษเท่านั้น


                                          พระธาตุปาฎิหาริย์ตกลงมาบนโต๊ะทำงาน


                   วันหนึ่งต้นเดือนพฤศจิกายน 2524 ขณะกำลังนั่งทำงานอยู่ มีพระธาตุองค์หนึ่ง ลักษณะเป็นหยดน้ำ สีมุกดา ตกลงมาเบื้องหน้า ก็ช้อนขึ้นมาวางในอุ้งมือ เมื่อเหลือบตามองไปที่เดิมเห็นพระธาตุอีก  4 องค์ ลักษณะเป็นแก้วผลึกใสบริสุทธิ์เหมือนเพ็ชรมาปรากฎอีก จึงนำมารวมกันให้พวกเพื่อน ๆ ดูว่า พระธาตุเสด็จงามมากทุกองค์


                    เผอิญมีผู้มีทิพยจักษุเข้ามาเยี่ยมเวลานั้น พิจารณาแล้วแจ้งว่า พระธาตุเหล่านี้เป็นของท่านพระอาจารย์จวน ท่านส่งมาให้ เป็นพระธาตุจากส่วนกระดูกอกของท่านซึ่งใสเป็นแก้วแล้ว ความข้อนี้พ้องกับเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอนศิษย์คนหนึ่งให้เพ่งพิจารณากาย วันหนึ่งจะเห็นกระดูกส่วนต่าง ๆ ภายในกายของตน ภายหลังท่านซักศิษย์ผู้นั้นว่า เริ่มพิจารณากายหรือยัง ตอบว่ายัง ท่านได้ตำหนิว่าทำไมยังนอนใจไม่เร่งภาวนา ศิษย์ผู้นั้นเป็นคนดื้อจึงเปรยว่า ภาวนาไปก็คงไม่มีผล จะได้เห็นกระดูกจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ และเผอิญตอแยต่อไปว่า แล้วท่านอาจารย์ได้เห็นกระดูกท่านอาจารย์หรือไม่ ท่านคงรำคาญความดื้อดึงว่ายากของศิษย์ผู้นั้น จึงหลุดปากว่า เห็นซิ อาตมาเห็นกระดูกอกของอาตมาทุกวัน ใสเป็นแก้วแล้ว….!


                    ความข้อนี้ไม่ได้เป็นที่แพร่หลาย มีศิษย์ผู้นั้นทราบคนเดียวและเก็บปากคำเงียบด้วยรู้ตัวว่ามีความผิดอยู่ น่าประหลาดใจที่มีผู้มาบอกตรงกัน วันหลัง ขณะกำลังถกเถียงกันว่า พระธาตุเหล่านี้จะเชื่อได้หรือไม่ว่าเป็นของท่านพระอาจารย์จวน ได้มีพระธาตุผุดขึ้นมาอีกทีละองค์หลายครั้ง ครั้งแรกที่ภูวัว ต่อหน้าท่านพระอาจารย์คำ กาญจนวัณโณ ครั้งที่สองที่บ้านลาดพร้าว ต่อหน้าท่านพระอาจารย์ปิ่นฯ


                    ได้เพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ จนเท่าปัจจุบันนี้ วันหนึ่งได้สังเกตเห็นพระธาตุลักษณะกลมเล็กสีดำเพิ่มมาอีกองค์หนึ่ง (ปัจจุบันนี้องค์โตกว่าเดิมมาก)


พระธาตุปาฎิหาริย์ตกลงมาบนแว่นตา


คืนหนึ่ง……ขณะกำลังอ่านหนังสือก่อนนอน ได้ยินเสียงแกร๊กเหมือนมีอะไรตกลงมาบนแว่นตา ถอดแว่นดูก็ไม่เห็นอะไร จึงใส่แว่นอ่านหนังสือต่อไป ได้ยินเสียงแกร๊กอีก ถอดแว่นอีกครั้งก็ยังไม่เห็นอะไร จึงใช้นิ้วลูบบนเล็นซ์ เพราะเสียงแกร๊กนั้นดังชัดมาก จึงได้พระธาตุองค์นี้ สีดำ เป็นมันเลื่อม ต่อมาก็โตขึ้น


พระธาตุปาฎิหาริย์ลอยลงมาจากรูปของท่านพระอาจารย์จวน


วันนั้นเป็นวันหยุดฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2525 กำลังช่วยกันเลือกอัฐิ และพระธาตุของท่านอาจารย์อยู่ที่หน้าห้อง ซึ่งท่านเคยนอน ข้าพเจ้าบ่นว่า พวกเรามาจัดพระธาตุถวายเช่นนี้ ซึ่งท่านเคยนอน ข้าพเจ้าบ่นว่า พวกเรามาจัดพระธาตุถวายเช่นนี้ใกล้เกลือกินด่าง เห็นพระธาตุแต่ไม่มีสิทธิได้ไว้บูชาสักองค์ เพราะต้องเก็บรวบรวมสำหรับเจดีย์หมด


บ่นเสร็จ ตาก็เหลือบมองไปที่รูปของท่าน ซึ่งปิดอยู่เหนือประตู รูปนั้นท่านอาจารย์กำลังยิ้มอย่างเมตตา ข้าพเจ้าพูดขึ้นว่า ท่านอาจารย์ขอพระธาตุบ้างไม่ได้หรือเจ้าคะ” ทันใดนั้นมองเห็นสายสีขาวเหมือนแพรบาง ลอยพริ้วออกมาจากรูปท่าน ข้าพเจ้าคิดว่า ลมคงแรง แพรขาวซึ่งคงติดรูปท่านอยู่ (แต่เราไม่ทันเห็นมาก่อน) จึงลอยตกลงมา สายแพร (ซึ่งเรามองเห็นเช่นนั้น) ลอยลงมาในมือซ้ายข้าพเจ้า ซึ่งเผอิญกำลังหงายมือรออยู่พอดี


ปรากฎกลายเป็นพระธาตุแก้วผลึกใสองค์หนึ่ง! โดยที่เห็นว่าพระธาตุองค์นี้ เสด็จมาในวันฉัตรมงคล อันเป็นมงคลวาร เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินภูทอกในวันที่ 30 มีนาคม 2526 จึงได้ทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวายพระธาตุองค์นี้ไป


พระธาตุปาฎิหาริย์ตกลงมากลางศาลา


คืนวันนั้น วันที่ 24 ตุลาคม 2525 ทอดกฐินเสร็จแล้ว ขณะขึ้นไปรวมกันบนศาลายอดเขาชั้นที่ 5 เพื่อจะนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่อัญเชิญมาให้สักการะ กำลังเล่ากันถึงพระธาตุปาฎิหาริย์ มีผู้บ่นอยากเห็นกับตากันมาก ก็ได้ยินเสียงแกร๊ก เบา ๆ แต่ได้ยินทั่วศาลา มีเสียงคนร้องว่า พระธาตุเสด็จ ท่านพระอาจารย์บุญเสวย  เตชวโร แห่งวัดป่าบุรีรัตน์พัฒนาราม อ.ในเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งพาคณะจังหวัดบุรีรัมย์มาร่วมทอดกฐินด้วย ได้ช่วยมองหา พบพระธาตุตกลงอยู่หน้ารูปท่านพระอาจารย์จวน 2 องค์ ลักษระสีขาว 1 องค์ และดำ  1 องค์ คนในศาสนาซึ่งมีอยู่ร่วมพันลุกฮือมาขอดูกันแน่น


ระหว่างนั้น ได้มีพระธาตุเสด็จอีกหลายองค์ ตกลงบนผ้าสักหลาดสีแดงที่ปูโต๊ะรองที่ตั้งพระธาตุ ข้าพเจ้าจึงประกาศว่า หากพระธาตุตกลงนอกตลับที่ใส่พระธาตุแล้ว ท่านผู้ใดเห็นก็เชิญเก็บไปบูชาได้ ปรากฎมีผู้ได้พระธาตุไปกว่าสิบคน


พระธาตุปาฎิหาริย์ 2 องค์  วิ่งมารวมกันเป็นองค์เดียว


ในเวลาไม่กี่นาทีต่อมา เมื่อทุกคนกำลังสนใจชมพระธาตุปาฎิหาริย์ชุดอื่น ๆ กันอีก บางคนกำลังชี้นิ้วว่า องค์นั้นสวยเหมือนเพชร องค์นี้เป็นรุ้งเหมือนโอปอล์ องค์นั้นงามกว่า องค์นี้งามมากไปกว่า กลุ่มที่ดูพระธาตุชุดปาฎิหาริย์มาบนโต๊ะทำงาน ก็ได้เห็น….ณ จุดตรงซึ่งเป็นที่ว่าง ไม่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ พระธาตุ 2  องค์ลักษณะกลมเป็นแก้วผลึกใสเหมือนเพชร ได้วิ่งมารวมกันเป็นองค์เดียว เป็นแก้วผลึกใสเหมือนกัน แต่เป็นลักษณะหกเหลี่ยม….และยาว!


เสียงร้องอุทานดังลั่น ต่างยืนยันกันว่า ได้เห็นภาพอันน่าอัศจรรย์นั้นเหมือน ๆ กัน พระธาตุ 2 องค์วิ่งมารวมกันเป็นองค์เดียว….! น่าอัศจรรย์จริงไหม หลายคนคอยจ้องดูพระธาตุเสด็จ…..ซึ่งหลายคนก็โชคดีเก็บกลับไปอวดญาติมิตรทางบ้าน สุดท้ายมีผู้ออกความคิดว่า ผู้ที่ยังเหลืออยู่ที่ได้เห็นพระธาตุปาฎิหาริย์ควรจะบันทึกชื่อกันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสอบทานเป็นพยานอ้างอิงได้


เท่าที่มอบชื่อให้ไว้คือ คุณศุรีมาศ  วิทยผโลทัย จากชลบุรี, คุณวิไล  เอื้ออนันต์ จากกรุงเทพฯ, คุณมณีรัตน์  โมกขพันธุ์ จากพระโขนง, คุณดวงทิพย์  ผลประไพ จากชลบุรี, คุณสมใจ มฤคไพรวัน จากสงขลา, และพระอธิการบุญเสวย  เตชวโร  วัดป่าบุรีรัตน์พัฒนาราม  จากบุรีรัมย์


พระธาตุจากเส้นเกศาท่านพระอาจารย์จวน


1.   พระธาตุจากเส้นเกศาท่านพระอาจารย์จวน  องค์แรกที่ปรากฎ เป็นของแม่ชีโสด


า เคนยา ซึ่งเวลานี้อยู่ที่อุดร แม่ชีเล่าว่าเก็บเส้นเกศาของท่านอาจารย์ไว้ในขวดแก้ว เปลี่ยนเป็นก้อนกลม บางคืนสว่างเรืองไปทั้งกุฎิ บางวันหอมตลบไปหมด ได้นำความกราบเรียนท่านอาจารย์ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ไปดูที่กุฎิ และให้รักษาไว้ให้ดีเป็นมงคล


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูเป็นครั้งแรกเมื่อท่านมรณภาพแล้วใหม่ ๆ  ลักษณะเป็นพระธาตุสีนวล ภายหลังได้เห็นอีก ปรากฎว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นมากจากที่เห็นครั้งแรก


2. พระธาตุจากเส้นเกศาท่านพระอาจารย์จวน ที่เกิดขึ้นเมื่อท่านมรณภาพแล้ว ลักษณะปรากฎเช่นใน 1.


สำลี ด้ายและจีวรไม่ไหม้ระหว่างถวายเพลิง


หลังพระราชทานเพลิงศพ ( 18 เมษายน 2524) ประมาณปีเศษ ทางวัดรื้อกระสอบผงถ่านและอังคารที่นำขึ้นไปเก็บบนยอดเขา นอกจากได้พบอัฐิ ... อัฐิกำลังแปรเป็นพระธาตุและพระธาตุจำนวนมากมายแล้วยังได้พบ สำลี จีวร และด้ายตราสัง ปนอยู่กับผงถ่านจำนวนหนึ่ง จีวรส่วนใหญ่ยังไม่ไหม้คงเป็นสีเหลือง ขณะนั้นไม่มีใครทันคิดได้ปล่อยให้ลมพัดจีวรและสำลีปลิวไปหมด เมื่อพบจีวรและสำลีมากเข้า ข้าพเจ้าจึงเสนอความคิดจะเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์ น่าเสียดายที่เหลือเพียงเล็กน้อยและที่เป็นสีดำเท่านั้น


น่าคิด ว่าสำลี จีวร และด้าย ถูกไฟโหมเผาตลอดคืนแต่ไม่ไหม้


พระธาตุปาฏิหาริย์มาเมื่อกำลังถ่ายภาพเพื่อจัดทำหนังสือ มาตาบูชา


ในการจัดทำหนังสือ มาตาบูชา นี้ ข้าพเจ้าได้จัดพระธาตุเป็นหมวดหมู่เตรียมไว้เพื่อง่ายต่อการบันทึกภาพ กำหนดเชิญช่างภาพมาถ่ายวันที่ 25 พฤษภาคม ก็ต้องจัดเตรียมให้เสร็จตั้งแต่กลางคืนวันที่ 24 ถึงเวลาถ่ายภาพ ปรากฎมีพระธาตุเพิ่มขึ้นจากที่จัดไว้เมื่อคืนวันที่ 24 บ้าง ปรากฎให้เห็นกับตาบ้าง บางครั้งยังเห็นองค์พระธาตุเคลื่อนตัวขึ้นลงอยู่ด้วยซ้ำ


การปรากฎองค์ของพระธาตุ ถ้าไม่ใช่การตกลงมาต่อหน้าก็จะทำให้เราเห็นได้ชัด เช่นในกลุ่มพระธาตุสีขาวองค์เล็ก จะเกิดพระธาตุสีดำ ... หรือในกลุ่มพระธาตุสีดำจะเกิดพระธาตุแก้วใสองค์เล็ก ดังในเมื่อกำลังถ่ายภาพ วันที่ 25 พฤษภาคม 2528 ปรากฎพระธาตุแก้วใส 3 องค์ขึ้นทีเดียว ท่ามกลางกลุ่มพระธาตุสีดำ และในที่ว่างห่างออกจากตรงที่เรากำลังเตรียมถ่ายภาพ จะมีพระธาตุผุดขึ้น ครั้งละ 1-2 องค์ จึงได้นำมาถ่ายภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐาน


ต่อมาเมื่อล้างฟิล์มสไลด์ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมมาดู ยังขาดภาพพระธาตุบางตอนอีก จึงถ่ายภาพเพิ่มในวันที่ 4 มิถุนายน อีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่า กลุ่มพระธาตุที่มีปาฏิหาริย์พระธาตุแก้วใส 3 องค์ ในวันที่ 25 พฤษภาคม นั้น ถึงวันที่ 4 มิถุนายน กลับกลายเป็นมีพระธาตุแก้วใส 4 องค์ คงเพิ่ม 1 องค์ ส่วนที่แยกเก็บไว้ว่า พระธาตุปาฏิหาริย์ทีละ 1-2 องค์ รวมเป็น 7 องค์ ในวันที่ 28 พฤษภาคมนั้น ครั้งถึงวันที่ 4 มิถุนายน เพิ่มอีก 1 องค์ กลายเป็น 8 องค์!


 


พระธาตุเสด็จมาในวันถ่ายภาพเพื่อจัดทำหนังสือ มาตาบูชา และแสดงปาฏิหาริย์มีแสงรังสีจ้า


ในวันถ่ายภาพเพิ่มเติม วันที่ 4 มิถุนายน 2528 ข้าพเจ้าได้ตักพระธาตุออกแจกให้น้อง ๆ ที่ทำงาน ซึ่งร่วมเหนื่อยในการถ่ายภาพ ครั้งแรกได้ให้พระธาตุชนิดแก้วมุกดาคนละ 3 องค์ ต่อมาว่าจะให้พระธาตุแบบแก้วใสดุจเพชรอีกคนละ 2 องค์ เฉพาะเมื่อจะส่งพระธาตุแบบแก้วใสให้คุณไสว ศรีสังข์ ยังไม่ทันถึงมือเธอ มีแสงรัศมีสว่างวาบจากช้อนตักพระธาตุ เขจิดจ้าราวกับแสงฟ้าแลบพุ่งเข้าตาทั้งผู้ให้และผู้รับ จนต้องร้องออกมาดัง ๆ และเห็นพระธาตุแก้วใสองค์ที่สามเสด็จมาประดิษฐานในช้อนเล็ก คุณไสว ปิติจนขนลุกน้ำตาคลอ


(สี) ของพระธาตุท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


เท่าที่สังเกตได้ในขณะนี้ พระธาตุท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มีพรรณสีสรรแตกต่างกัน พอจะแยกออกตามประเภทต่าง ๆ ดังนี้


1. สีขาว


2. สีพิกุลแห้ง


3. ลักษณะเป็นมันเยิ้ม และค่อยแปรเป็นแก้วสีขาว


4. ลักษณะเป็นผลึกแก้ว ครึ่งขุ่นครึ่งใส – สีขาว


5. ใสประดุจเพชร (ส่วนใหญ่ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด)


6. สีดำปนเทา เป็นมันเยิ้ม


7. สีดำสนิท มัน ลักษณะเป็นเหลี่ยม รี กลม


8. สีเขียวไข่นกการะเวก


9. สีชมพูใส


เป็นที่น่าสังเกตว่าพระธาตุที่ลักษณะดูเป็นมันเยิ้มนั้น ต่อไปมักจะแปรเป็นแก้วผลึก


ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากผงอังคาร


ลำดับ 1 ผงอังคาร (ถ่าน)


ลำดับ 2 มีจุดเล็กเหมือนไข่ปลา สีขาวเทาเกิดขึ้น


ลำดับ 3 ไข่ปลานั้นเริ่มโตมีขนาดโตขึ้น สีเทาดำ


ลำดับ 4 สีเทาดำ เริ่มขาวขึ้น – ขนาดพระธาตุก็ใหญ่ขึ้น


ลำดับ 5 ลักษณะเป็นพระธาตุสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งมักจะเข้าลักษณะเมล็ดข้าวโพด


ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากอัฐิ


ลำดับ 1 กระดูกตามธรรมชาติ


ลำดับ 2 กระดูกเริ่มแปรสภาพเป็นพระธาตุ แยกเป็น 2 ลักษณะ


            2.1 กระดูกที่มีลักษณะฟองกระดูกเป็นรูพรุน ฟองกระดูกจะเริ่มหดตัว รวมตัวเข้าเป็นผลึก ฟองกระดูกบางส่วนจะยังคงสภาพอยู่


            2.2 กระดูกที่เป็นชิ้นยาว แนวเยื่อกระดูกที่เห็นเป็นเส้นบาง ๆ ต่อไปจะแปรเป็นพระธาตุตามแนวเส้น และเกิดผลึกขยายขึ้นจนเต็มองค์ ลักษณะสัณฐาน มักจะมีขนาดใหญ่เล็ก และรูปลักษณะตามชิ้นกระดูก ไม่เปลี่ยนไป


ลำดับ 3 สภาพใกล้จะเป็นพระธาตุมากขึ้น


             3.1 พระธาตุลักษณะนี้แปรสภาพจาก 2.1 ส่วนที่เป็นผลึกหินปูนจะมากขึ้น ส่วนที่เห็นเป็นฟองกระดูกจะน้อยลง ลักษณะเริ่มมน มีสัณฐานกลม รี เมล็ดข้าวโพด เห็นส่วนฟองกระดูกติดเพียงเล็กน้อย


            3.2 พระธาตุลักษณะนี้มักจะคงรูปกระดูกเดิมไว้ โดยแปรจาก 2.2 เยื่อกระดูกที่เกาะเป็นผลึกหินปูน จะขยายตื้นขึ้นจนเกือบเต็มรูพรุนกระดูก ประมาณเห็นส่วนกระดูกเหลือเพียง 10-20%


ลำดับ 4 เป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์


             มีรูปสัณฐานต่างกันหลายแบบ เช่น เหลี่ยมบ้าง กลมบ้าง รีบ้าง เหมือนเมล็ดข้าวโพดบ้าง ขนาดต่าง ๆ กัน คือ ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดข้าวโพด หรือใหญ่เล็กตามรูปกระดูก


ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากเส้นเกศา


ลำดับ 1 เส้นเกศาตามธรรมชาติ


ลำดับ 2 เส้นเกศาจะหย่งตัวขึ้นและมารวมตัวกันเข้า ติดกันเป็นแพเล็ก ๆ


ลำดับ 3 แพเหล่านั้นจะรวมเป็นก้อน


ลำดับ 4 เริ่มลักษณะเป็นพระธาตุ สีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีพิกุล


ลำดับ 5 เป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ สีพิกุลแห้ง หรือนวล


อัปปมาโณ...ธาตุโย


โดยที่มีผู้สนใจเรื่องอัฐฺกลายเป็นพระธาตุมาก ทั้งด้วยความเคารพเลื่อมใส ศรัทธา ทั้งด้วยความใคร่รู้ตามวิสัยปุถุชนเราบ่นกันว่า ส่วนใหญ่เรามักจะได้กราบพระธาตุกันก็เมื่อท่านเป็นพระธาตุแล้ว อัฐิอังคารท่านค่อย ๆ เปลี่ยนทีละน้อย หรือเปลี่ยนทันทีใช้เวชานานเท่าไรกว่าจะเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ อัฐิท่านเปลี่ยนเป็นพระธาตุได้เพราะอะไร


ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องนี้ และไม่มีความรู้ความสามารถที่จะอธิบายได้ แต่จากประสบการณ์ที่ได้กราบอัฐิธาตุครูบาอาจารย์มา สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง แปรสภาพเป็นระยะ ๆ (ตามช่วงเวลา ที่บังเอิญเปิดทำความสะอาด จัดที่บูชาหรือมีผู้ขอชม) จึงขอเรียนถึงความคิดเห็น ความเข้าใจของตนซึ่งคงจะพอตอบข้อซักถามต่าง ๆ เหล่านั้นได้บ้าง…..คือ


1. อัฐิหรืออังคารของท่าน ค่อย ๆ เปลี่ยนแปรสภาพแน่นอน แต่มีที่เปลี่ยนทันทีบ้างนั้นจะเป็นการปาฎิหาริย์ เช่น ในกรณีท่านพระอาจารย์จวนมีผงถ่าน (บางกรณีก็เป็นผงถ่านปาฎิหาริย์ คือ เกิดผงถ่านขึ้นเดี๋ยวนั้นที่หน้าเมรุของท่าน ใส่โถแก้วไว้ เปิดบางครั้งจะมีอัฐิลอยอยู่บนหน้า แรก ๆ เป็นขนาดเล็ก ๆ ระยะหลัง ครั้งหนึ่งเปิดโถแก้วพบอัฐิชิ้นใหญ่ ๆ วางอยู่เต็มหน้าโถแก้วนั้น ข้าพเข้าขนลุกซู่ถึงก้มลงกราบ พระคุณของท่านนั้นหาประมาณมิได้ เกินรู้ เกินคิด ของเราเจริง ๆ


2. ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์? ข้อนี้ต้องขอเรียนว่า เท่าที่พบเห็นมานั้น ไม่อาจกล่าวตายตัวไปได้ บางครั้งก็เร็วมาก วันนี้เป็นผงถ่าน พรุ่งนี้เป็นพระธาตุเลย (ซึ่งเข้าลักณษะปาฎิหาริย์) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาแรมเดือน แรมปี และอัฐิก็ไม่ได้เป็นพระธาตุหมด หรือพร้อมกัน หรืออย่างในกรณี พระอรหันต์นิรนาม ซึ่งบันทึกไว้ต่างหากแล้ว มีผู้นำผงอัฐิธาตุท่านมาให้ และครั้งแรกข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเป็นอัฐิธาตุพระอรหันต์ เพราะมีลักษณะคล้ายผงเปลือกหอยแตก เก็บไว้ 3-4 ปีจึงเห็นเป็นพระธาตุและก็มิได้เป็นหมด ยังคงเหลือผงอัฐิอีกมาก ผงอัฐินั้นผู้ให้ว่าบิดาของท่านได้มาจากคุณปู่และคุณปู่ได้จากเจดีย์ร้าง เวลา 3 ชั่วคนนานเท่าไร และเวลาที่บรรจุในเจดีย์ จนเจดีย์ร้าง…..อีกเท่าไร แต่อัฐิธาตุของท่านก็ยังแปรเป็นพระธาตุไม่หมด


3.อัฐิของท่านแปรเป็นพระธาตุได้เพราะอะไร? เป็นเรื่องเกินรู้ เกินคิดของผู้เต็มไปด้วยกิเลสหนา ปัญญาหยาบอย่างข้าพเจ้าจึงได้ขออัญเชิญข้อเขียนของ พระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน มาลงพิมพ์ไว้ในตอนที่กล่าวถึง พระธาตุท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ ที่ผ่านมาแล้ว โปรดกรุณาพลิกกลับไปอ่านได้


แต่มีเรื่องน่าขันควรบันทึกไว้ คือ มีบางคนมาตั้งคำถามกับข้าพเจ้าว่า คุณทราบไหม ท่านอาจารย์มั่นท่านสอนให้ลูกศิษย์ของท่านกินอะไร?” ข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำถามนั้น จึงย้อนถามกลับไป ท่านผู้นั้นก็บอกต่อไป ต้องมีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษแน่นอนครับ ม่ายงั้นกระดูกของพวกท่านจะกลายเป็นพระธาตุกันมากมายอย่างไร ท่านต้องกินอะไรพิเศษแน่ ทำให้กระดูกมีลักษณะพิเศษ เผาแล้วก็เป็นพระธาตุได้ ท่านคงค้นพบแล้วก็สอนให้ลูกศิษย์กิน คุณเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดท่านหลายองค์ คงมีใครแพร่งพรายบอกคุณบ้างหรอกน่า!” แล้วเพื่อนของท่านผู้นั้นก็เสริมว่า นั่นซิ…..ถามจริง ๆ เถอะ ท่านกินอะไร” ข้าพเจ้าเกือบกลั้นหัวเราะไม่อยู่ แต่ก็ตอบกลับไปว่า ท่านกินพุทโธ….!


 



 


เรื่องราวของคุณป้าผมก็จบเพียงเท่านี้ ตอนหน้าค่อยมาฟังเรื่องราวของคนที่ถูกผีเข้ากันนะครับ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุกท่านเทอญ .......



โกสินทร์


วัวธนูเนื้อสำริดแดง รหัส 112 รุ่นแรก พระอาจารย์พรสิทธิ์ วัดสว่างอารมณ์ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รับเมื่อ 24 ก.พ.57 . . . ซานซีโร่ซีโร่

โกสินทร์


อีกด้านหนึ่งของวัวธนูเนื้อสำริดแดง รหัส 112 รุ่นแรก พระอาจารย์พรสิทธิ์

โกสินทร์


ควายธนูเนื้อโลหะ ครูบาดวงดี สุภัทโท วัดท่าจำปี อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รับเมื่อ 18 มี.ค.57 . . . ป๊ะซีโร่ซีโร่

โกสินทร์


อีกด้านหนึ่งของควายธนูเนื้อโลหะ ครูบาดวงดี สุภัทโท

โกสินทร์


วัวธนูอาจารย์แสงแก้ว คำมะณี อาจารย์ฆราวาส พุทธอุทยานแดนแก้วบุษราคัมธรรมเจดีย์ จ.ศรีสะเกษ รับเมื่อ 24 มี.ค.57 . . . อู่ซีโร่ซีโร่

โกสินทร์


อีกด้านหนึ่งของวัวธนูอาจารย์แสงแก้ว คำมะณี อาจารย์ฆราวาส

โกสินทร์


วัวธนูเนื้อทองเหลือง ครูบาดวงดี สุภัทโท วัดท่าจำปี อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รับเมื่อ 12 เม.ย.57 . . . จิ่วจิ่วจิ่ว

โกสินทร์


อีกด้านหนึ่งของวัวธนูเนื้อทองเหลือง ครูบาดวงดี สุภัทโท

โกสินทร์


ผ้ายันต์วัวธนูกริ่งตรีนิสิงเห รุ่นแรก ปี53 ครูบาผดุง วัดป่าแพร่ง ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รับเมื่อ 12 เม.ย.57 . . . เอ้ออู่จิ่ว

โกสินทร์


วัวธนูอาจารย์อ๊อด ผ้าขาว อาจารย์ฆราวาส จ.อุบลราชธานี รับเมื่อ 27 มี.ค.57 . . . อิ๊อู่ซีโร่ซีโร่

โกสินทร์


อีกด้านหนึ่งของวัวธนูอาจารย์อ๊อด ผ้าขาว

Sarn

ขอบคุณครับ

Page : 1
Webboardแสดงความคิดเห็น
เยี่ยม   แย่   แย่   แย่   เขิน   หยอกล้อ  ตกใจ  ร้องไห้   สงสัย   ขอโทษ   หดหู่   อย่าน่ะ   ต่อว่า   โอเค
รูปภาพ
(นามสกุลไฟล์ควรเป็น [ jpg , jpeg , gif ] และไฟล์ไม่เกิน 3 MB.)
*ชื่อ
*สถานะ  
*อีเมล
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
*รหัสยืนยัน

หมายเหตุ : : กรุณากรอกข้อมูลที่มี * ทุกช่อง

 


 หน้าแรก  ประวัติ  เรื่องเล่า  กุมารทอง  อื่นๆ  รวมรูปภาพ  เว็บบอร์ด

 เสริมดวงออนไลน์ By jack kumanthong

 www.facebook.com/jackkumanthong

 
view